ChatGPT คืออะไร

ย้อนกลับ 31 มีนาคม 2566
1

ChatGPT คืออะไร? สัตวแพทย์จะตกงานไหม?

สพ.ญ.ชลิตา ใจนนถีย์
ศูนย์สัตวแพทย์สาธารณสุขและอาหารปลอดภัย
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : chalita.j@cmu.ac.th


             เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence, AI) หลายคนน่าจะเคยได้ยินหรือเคยใช้งานแช็ตบอทที่ชื่อว่า “แช็่ตจีพีที” (ChatGPT) กันมาบ้างแล้ว โดยแช็่ตจีพีทีเวอร์ชั่นต้นแบบได้ถูกเผยแพร่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 (พ.ศ. 2565) และด้วยความฉลาดในการโต้ตอบกับมนุษย์ในรูปแบบของข้อความ ทำให้แช็่ตจีพีทีถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่การช่วยตอบคำถามพื้นฐานง่าย ๆ ช่วยทำการบ้าน เขียนบทความภาษาอังกฤษ (Essay) วางโปรแกรมการท่องเที่ยว แต่งแพลง หรือแม้กระทั่งถูกนำมาใช้เป็นผู้เขียนร่วมในบทความตีพิมพ์ทางวิชาการ ความสามารถของแช็่ตจีพีทีพัฒนาไปจนถึงการสามารถทำข้อสอบบรรยายหลักสูตรกฎหมาย หลักสูตรบริหารธุรกิจ สอบได้คะแนนในระดับผ่านใบอนุญาตทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา และล่าสุดแช็่ตจีพีทีสามารถสอบผ่านหลักสูตรวิศวกรซอฟต์แวร์ระดับ 3 ของ Google ซึ่งมีเงินเดือนสูงกว่า 5 แสนบาทได้!!

รูปที่ 1 หน้าตาของแช็่ตบอท ChatGPT (แช็่ตจีพีที) ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบกับแช็่ตบอทโดยการพิมพ์ข้อความลงในกรอบสี่เหลี่ยมด้านล่าง

          แช็่ตจีพีที มีชื่อย่อมาจาก Chat Generative Pre-trained Transformer เป็นแช็่ตบอทปัญญาประดิษฐ์ต้นแบบที่พัฒนาโดยบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) ตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ใช้เทคนิคการเรียนรู้แบบเสริมแรง (Reinforcement learning) ซึ่งคล้ายกับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์โดยอาศัยประสบการณ์จากการลองผิดลองถูก โดยเมื่อเอไอค้นพบว่าปัญหาที่ตอบสนองนั้นผิดพลาด จะพยายามค้นหาวิธีการใหม่เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีที่สุด นอกจากนี้ แช็่ตจีพีทียังมีความสามารถในด้านการสนทนาที่สามารถตอบโต้กับผู้ใช้งานได้อย่างละเอียด สรุปประเด็นที่ผู้ใช้งานป้อนคำถามได้อย่างเป็นรูปแบบ และมีความสามารถในการจดจำ (Memory) และโต้ตอบคำถามจากประเด็นก่อนหน้าได้โดยไม่ต้องทวนคำถามเดิมซ้ำ ทำให้แช็่ตจีพีทีมีความแตกต่างจากเครื่องมือในการค้นหาอย่าง Google และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว 

รูปที่ 2 ตัวอย่างบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ใช้แช็่ตจีพีทีเป็นผู้เขียนร่วมในบทความ

           จากความสามารถที่น่าทึ่งของแช็่ตจีพีที ทำให้เกิดข้อกังวลและข้อถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อกังวลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาแทรกแซง (Disrupt) การทำงานของมนุษย์ในหลาย ๆ ด้านในอนาคต ทั้งวงการโปรแกรมเมอร์ที่แช็่ตจีพีทีจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในการเขียนโค้ดโปรแกรม วงการสื่อสารมวลชนในการเขียนสคริปต์พิธีกรหรือคิดคอนเทนต์ในการนำเสนอ วงการเพลงในการช่วยแต่งเนื้อเพลง วงการโฆษณาในการช่วยคิดคอนเทนต์หรือข้อความโฆษณาให้กับธุรกิจ หรือแม้กระทั่งวงการการศึกษา เช่น นักเรียนในต่างประเทศใช้แช็่ตจีพีทีช่วยในการทำรายงาน เขียนบทความ ทำการบ้าน มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตเอไออาจจะสามารถเข้ามาทดแทนงานหรือความรู้ที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เรียกได้ว่าการพัฒนาขีดความสามารถของเอไอนั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม ที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์เปรียบเสมือนเครื่องทุ่นแรง และเอไอก็สามารถทดแทนการใช้แรงงานของมนุษย์และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจได้เช่นเดียวกัน

            เมื่อพูดถึงวิชาชีพอย่างเช่นแพทย์ ที่แช็่ตจีพีทีสามารถสอบผ่านใบอนุญาตทางการแพทย์ได้ แล้วแช็่ตจีพีจะสามารถเข้ามาแทรกแซงวิชาชีพสัตวแพทย์ได้หรือไม่? หมอสัตว์จะตกงานไหม? ... จากการทดสอบเบื้องต้นในการให้แช็่ตจีพีทีทดลองทำข้อสอบตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นคำถามชนิดเลือกตอบ (Multiple choices) (รูปที่ 3) พบว่า แช็่ตจีพีทีสามารถทำคะแนนได้สูงถึง 83.3% (5 จาก 6 ข้อ) ในหมวดความรู้ความเข้าใจในสาขาสัตวแพทยศาสตร์ แต่ในหมวดหมู่ความสามารถในการปฏิบัติงาน แช็่ตจีพีทีสามารถตอบคำถามได้ถูกต้องเพียง 33.3% (2 จาก 6 ข้อ) เท่านั้น เช่นเดียวกับแนวข้อสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ที่ทำคะแนนได้เพียง 60% (6 จาก 10 ข้อ) โดยพบว่า หากเป็นคำถามเชิงบูรณาการที่ไม่ใช่ลักษณะทดสอบความจำ แช็่ตจีพีทีจะมีความสามารถในการตอบคำถามที่ค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ การทดสอบเหล่านี้เป็นการโต้ตอบโดยใช้ภาษาไทย ซึ่งแช็่ตจีพีทียังมีความสามารถที่ค่อนข้างจำกัดในการทำความเข้าใจกับภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษอยู่ จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คำตอบที่ได้จากแช็่ตจีพีทีมีความแม่นยำน้อยกว่าที่ควร 

รูปที่ 3 การทดลองให้แช็่ตจีพีทีทำแบบทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2553 พบว่า แช็่ตจีพีทีสามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องและให้คำอธิบายเกี่ยวกับคำตอบที่เลือกได้

            เมื่อทดสอบด้วยการสอบถามแนวทางในการวินิจฉัยโรคในสัตว์เลี้ยง พบว่า แช็่ตจีพีทีสามารถให้คำตอบในลักษณะกว้าง ที่ไม่เฉพาะเจาะจง หากข้อความที่ผู้ใช้ระบุลงไปไม่มีความละเอียดมากพอ (รูปที่ 4) โดยเป็นคำตอบในลักษณะที่เป็นกลาง ว่าอาการที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากหลายสาเหตุ และแนะนำให้ผู้ใช้งานนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจอาการหาสาเหตุที่แท้จริง การตอบคำถามของแช็่ตบอทนี้เป็นรูปแบบพื้นฐานในการตอบคำถามเบื้องต้นกับคำถามที่มีความซับซ้อน ซึ่งพบเห็นได้ในหลาย ๆ คำถามที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง ดังนั้น แช็่ตจีพีที จึงไม่สามารถฟันธงหรือให้ข้อสรุปกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งได้ เป็นเพียงการให้คำตอบเบื้องต้นเท่านั้น แต่ก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศให้ความเห็นทั้งในเชิงบวกและลบว่าการนำแช็่ตจีพีทีเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการวินิจฉัยโรคเป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ และมีความเป็นไปได้ที่จะ เกิดขึ้นในอนาคต (หมายเหตุ แช็่ตจีพีทีรุ่นที่ใช้งานขณะที่เขียนบทความนี้ คือ ChatGPT Feb 13 (2023) Version) 

รูปที่ 4 เปรียบเทียบการตอบคำถามของแช็่ตจีพีที เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการวินิจฉัยสุนัขเพศเมีย ที่มีอาการมีไข้ เบื่ออาหาร ท้องบวม และมีสารคัดหลั่งไหลออกจากช่องคลอด จะเห็นได้ว่า เมื่อป้อนคำถามที่ไม่จำเพาะแช็่ตจีพีทีจะตอบคำถามในลักษณะกว้าง (รูปบน) และเมื่อระบุคำว่า “pus” หรือสารคัดหลั่งที่มีลักษณะที่เป็นหนองไหลจากช่องคลอด (รูปล่าง) จะเห็นว่าแช็่ตจีพีทีสามารถให้คำตอบที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยให้ความเห็นว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นมีโอกาสที่จะเกิดมดลูกอักเสบ (Pyometra) และแนะนำให้ผู้ใช้งานนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษา

         การหาคำตอบจากการค้นหาและรักษาด้วยตนเอง อาจทำให้เกิดผลเสียที่ตามมาจากการวินิจฉัยที่ผิดพลาดและการรักษาที่ผิดวิธีได้ เนื่องจากความรู้ในเชิงวิชาชีพนี้เกิดจากการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ และกลั่นกรองออกมาเป็นการตรวจวินิจฉัย การรักษาที่อิงจากข้อมูลทางวิชาการ ดังเช่นที่แต่ละวิชาชีพต้องใช้เวลา เรียนกว่า 5 – 6 ปี เพื่อให้ได้ความรู้เฉพาะด้านในการรักษามา ดังนั้น เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์จึงไม่สามารถบูรณาการความรู้และตัดสินใจได้ดีเท่ามนุษย์ในการรักษาที่อิงจากหลักวิชาการและประสบการณ์ การใช้ประโยชน์จากเอไอในปัจจุบัน จึงเป็นการนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด จึงต้องสรุปว่าทักษะที่เป็นวิชาชีพที่ต้องอาศัยความรู้เชิงบูรณาการและการหัตการ ณ ปัจจุบัน เอไอยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ จึงเป็นเพียงเครื่องมือที่เป็นผู้ช่วยเท่านั้น

         จากความสามารถของแช็่ตจีพีทีที่กล่าวมาข้างต้น ปัจจุบันแช็่ตบอทนี้ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งคำตอบที่ได้จากแช็่ตจีพีนั้นเกิดจากการป้อนข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เข้าไปเพื่อให้เอไอเรียนรู้และประมวลผลออกมา ซึ่งจำกัดอยู่ที่ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นก่อนปี 2021 (พ.ศ. 2564) ดังนั้น แช็่ตจีพีทีจึงไม่สามารถให้คำตอบกับคำถามที่สอบถามในเชิงการพยากรณ์หรือให้ข้อมูลในอนาคตได้ หรือแม้แต่คำถามเชิงแสดงความคิดเห็นหรือการให้เลือกความเห็นระหว่างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แช็่ตจีพีทีไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชี้ชัดได้ เพียงแต่รวบรวมและให้ข้อมูลจากทั้งสองฝั่งและแสดงความเห็นในทางที่เป็นกลางเท่านั้น ข้อควรระวังที่สำคัญที่สุดคือ แช็่ตจีพีทีให้คำตอบจากข้อมูลที่มีการรวบรวมและป้อนเข้าไปในอินเทอร์เน็ต และใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบเสริมแรงดังที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ใช้งานสามารถสอนหรือป้อนข้อมูลใหม่เพื่อให้แช็่ตจีพีทีเรียนรู้ได้ ซึ่งข้อมูลบางอย่างอาจมีการบิดเบือนไปจากความเป็นจริงได้ ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลที่บรรจุเข้าไปเพื่อให้เอไอเรียนรู้นั้นมีความถูกต้องและได้รับการตรวจสอบ (Verification) มากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงไม่สามารถนำคำตอบที่ได้จากแช็่ตจีพีทีไปใช้โดยไม่ผ่านการยืนยันหรือตรวจสอบข้อมูลก่อนได้ จึงต้องระวังในการนำเนื้อหาที่ได้ไปใช้ในเชิงวิชาการ เช่น การทำรายงานหรือการตอบคำถาม เป็นต้น เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการประมวผลและตอบคำถามยังเป็นข้อมูลที่จำกัดและยังไม่ได้มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน ผู้ใช้งานควรมีวิจารณญาณในการใช้งานให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม

         ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหรือทักษะใดก็ตาม เราควร “ตระหนัก” ว่าสักวันหนึ่งเอไออาจจะเข้ามาแทนที่ทักษะเหล่านั้นได้ แต่อย่าตระหนก เพราะสิ่งที่เอไอยังไม่สามารถเรียนรู้ได้ในเวลานี้นั่นก็คือความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotional quotient, EQ) และความเป็นมนุษย์ (Human nature) ในปัจจุบัน กระบวนการในการทำงานหลายๆ อย่างยังต้องพึ่งการตัดสินใจของมนุษย์ เนื่องจากเอไอก็ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบและยังคงมีความผิดพลาดเช่นเดียวกัน ดังนั้น บทบาทของเทคโนโลยีในปัจจุบันจึงใช้เป็นผู้ช่วยเสริมแรง ในการลดแรงงานหรือขั้นตอนในการทำงานบางอย่าง ดังคำกล่าวที่ว่า “AI should be looked at as a friend – not a foe to mankind” นั่นคือ เอไอเปรียบเสมือนเพื่อนของมนุษยชาติมากกว่าที่จะเป็นศัตรู และมนุษย์เรายังต้องพัฒนาต่อยอดทักษะของตนเองให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เอไอมาแทนที่ไม่ได้

ผู้อ่านที่สนใจ สามารถทดลองใช้งานแช็่ตจีพีทีได้ที่ https://chat.openai.com/chat

บรรณานุกรม

ที่อยู่155 หมู่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100
2023 Copyright By VMCMU
053-948002 , Fax.053-948065