บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์ (Sandbox) คืออะไร ?

ย้อนกลับ 31 พฤษภาคม 2566
1

บทบาทสัตวแพทย์กับ “บ้านก้อ Sandbox”

ผศ.น.สพ.ดร.ปรมินทร์ วินิจฉัยกุล
ภาควิชาคลินิกสัตว์บริโภค 
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : chalita.j@cmu.ac.th

บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์ (Sandbox) คืออะไร ?

             บ้านก้อ ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตภาคเหนือที่ประสบปัญหาไฟป่าสูงสุดในประเทศ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และหมอกควัน รวมถึงระบบนิเวศน์ของป่าเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้บ้านก้อมีฤดูแล้งที่ยาวนานกว่าปกติ ไม่สามารถเพาะปลูกพืชการเกษตรต่าง ๆ ได้ ยกเว้น ข้าวโพดลี้ยงสัตว์ เพื่อทำการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นจะต้องใช้การบูรณาการจากสหสาขาอาชีพในการร่วมกันออกแบบการแก้ปัญหาแบบสอดรับส่งเสริมกัน จึงเป็นที่มาของโครงการ “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” โดยการนำของชมรมผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนภาครัฐ และเอกชน เพื่อจัดระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน ปลูกพืชทดแทน ปศุสัตว์ ประมง การท่องเที่ยว และสร้างความรู้เพื่อสนับสนุนให้เกิดอาชีพทำกินอย่างยั่งยืนในพื้นที่บ้านก้อ

สัตวแพทย์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างไร ?

              คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังพันธกิจด้านการบริการวิชาการแก่สังคม โดยมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการจัดทำโครงการ ”โครงการนำร่องพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อหมู่บ้านก้อ ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน” ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจากเดิมเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินอิสระรวมถึงการปล่อยให้หากินในพื้นที่ป่า ให้เป็นระบบการเลี้ยงแบบฟาร์ม หรือแบบขังภายในคอก เพื่อเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ ลดภาระงานโดยไม่ต้องไปไล่ต้อนเช้าเย็น รวมถึงการนั่งเฝ้าฝูงสัตว์ตลอดทั้งวัน ซึ่งสามารถนำเอาเวลาดังกล่าวไปใช้เพื่อประกอบอาชีพเสริมด้านอื่น ๆ มีการหมุนเวียนใช้พืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มรายได้ และลดการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าจากการเลี้ยงปล่อย

              โดยสัตวแพทย์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งชองโครงการบ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์ เพื่อสอดรับกับโครงการย่อยอื่น ๆ เช่น การจัดระบบชลประทาน การปรับปรุงคุณภาพดิน การปลูกพืชอาหารสัตว์ และการทำปุ๋ยคอก โดยทำการส่งเสริมการสร้างระบบการเลี้ยงโคเนื้อแบบฟาร์มขึ้น จากองค์ความรู้ทางสัตวแพทย์ด้านการรักษาควบคุมป้องกันโรค ตลอดจนการเฝ้าระวังสุขภาพ และผลผลิตระดับฝูง ทั้งนี้เพื่อเกื้อหนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนภายในพื้นที เพื่อสร้างความยั่งยืนให้บ้านก้อต่อไป

               ซึ่งตัวโครงการประกอบด้วยกิจกรรมด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การจัดระบบบันทึกข้อมูลตัวโคเนื้อ การจัดลงทะเบียนฟาร์มโคเนื้อ การเฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อย การจัดการด้านสุขภาพสัตว์ เช่น การทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ และการให้วิตามินบำรุง รวมถึงการเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคทางห้องปฏิบัติการ การอบรมส่งเสริมความรู้ด้านการเลี้ยงโคเนื้อระบบฟาร์ม และการควบคุมป้องกันโรคติดต่อในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง ? 

                เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในบ้านก้อมีจำนวนหลายครัวเรือน โครงการจึงได้ทำการคัดเลือกฟาร์มเกษตรกรหัวก้าวหน้าเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 8 ฟาร์มเพื่อเป็นตัวอย่างให้กลุ่มเกษตรกรในบ้านก้อ โดยมีจำนวนโคเนื้อที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 251 ตัว โดยโคเนื้อเกือบทั้งหมดเป็นพันธุ์พื้นเมือง และมีขนาดตัวที่เล็ก ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ฝูงโคทั้งหมดปลอดจากโรคแท้งติดต่อ อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างมูลโคเกือบทั้งหมดพบไข่พยาธิตัวกลม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจถึงโปรแกรมถ่ายพยาธิ ในส่วนตัวอย่างเลือดพบปัญหาด้านพยาธิเม็ดเลือดในกลุ่ม Anaplasma spp.และ Theileria spp. แต่ไม่พบกลุ่ม Babesia spp. ในพื้นที่ นอกจากนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ได้พบมีการระบาดของโรคลัมปีสกิน (lumpy skin disease) เกิดขึ้นกับฝูงโคเนื้อในบ้านก้อเป็นครั้งแรก ซึ่งจากปัญหาทั้งพยาธิเม็ดเลือด และการระบาดของโรคลัมปีสกินบ่งชี้ถึงปัญหาการควบคุมแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะอันเนื่องมาจากการเลี้ยงแบบปล่อยหากินอิสระ และมีการใช้แปลงหญ้าร่วมกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวโครงการได้เข้าไปมีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และวางแผนในการควบคุมป้องกันด้วยวิธีการจัดการในระบบการเลี้ยงแบบฟาร์ม มีโปรแกรมการทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ และการควบคุมแมลงดูดเลือดอย่างเป็นประจำ 

                ผลที่ได้รับทำให้ฝูงโคเนื้อมีปัญหาด้านพยาธิภายในทางเดินอาหารลดลง มีความสมบูรณ์ของร่างกายดีขึ้น รวมถึงปัญหาด้านโรคพยาธิเม็ดเลือด และโรคลัมปีสกิน อันเนื่องมาจากแมลงพาหะลดน้อยลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังด้านโรคปาก และเท้าเปื่อยอย่างต่อเนื่อง โดยการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าออกหมู่บ้าน และการใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออยู่เป็นประจำ

แล้วบทบาทสัตวแพทย์ต่อบ้านก้อ จะทำอะไรต่อไป ? 

                ตามแผนในระยะยาวเป็นการจัดโปรแกรมเข้าเยี่ยมฟาร์มประจำเดือนเพื่อทำการติดตามด้านระบบสืบพันธุ์ และการทำข้อมูลโคเนื้อให้เป็นปัจจุบัน ตลอดถึงการปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยวิธีการคัดเลือกแม่พันธุ์ และการผสมเทียม ตลอดจนการอบรมอาสาสมัครผสมเทียมในพื้นที่เพื่อทำการผสมเทียมได้เอง รวมถึงการวางแผนในการปรับปรุงแปลงหญ้า และพัฒนาคุณภาพผลพลอยได้ทางการเกษตรโดยเฉพาะเปลือกและฝักข้าวโพดที่มีจำนวนมากในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งอาหารหยาบให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

                อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และทัศนคติของเกษตรกรเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ซึ่งผลสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือและความมานะอดทนจากทุกฝ่าย ทั้งตัวเกษตรกรเอง ภาครัฐ ภาคเอกชน และสัตวแพทย์ในการช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือส่งเสริมกันพัฒนาการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน 

กิตติกรรมประกาศ

  1. ทุนโครงการบริการวิชาการเพื่อชุมชน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2564 (M00002670) 
  2. ชมรมผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล

รูปที่ 1 โครงการ “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” ที่ประกอบด้วยหลายโครงการย่อยที่ออกแบบให้แก้ปัญหาส่งเสริมกัน ซึ่งงานด้านปศุสัตว์เป็นหนึ่งในแผนงานที่ได้รับการตอบรับจากการสำรวจประชาคม (ที่มา: ชมรมผู้รับทุนพระราชทานทุนอานันทมหิดล)

รูปที่ 2 ระบบการเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์พื้นเมืองแบบปล่อยหากินอิสระที่สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่บ้านก้อ ตำบลก้อ จังหวัดลำพูน 

รูปที่ 3 การเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจค่าทางโลหิตวิทยา โรคแท้งติดต่อ และโรคพยาธิในเม็ดเลือดภายในห้องปฏิบัติการ

รูปที่ 4 ระบบการเลี้ยงโคเนื้อแบบฟาร์ม หรือแบบขังภายในคอกซึ่งก่อสร้างขึ้นโดยอาศัยวัสดุธรรมชาติในพื้นที่  

ที่อยู่155 หมู่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100
2023 Copyright By VMCMU
053-948002 , Fax.053-948065