โรคฮิคุยในปลาคาร์พสวยงาม (Hikui Disease in Fancy Crap Fish)

ย้อนกลับ 30 มิถุนายน 2566
1

โรคฮิคุยในปลาคาร์พสวยงาม (Hikui Disease in Fancy Crap Fish)

นายสัตวแพทย์คทาวัชร ผัดวัน
คลินิกสัตว์น้ำ ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า 
โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : aquacmu@gmail.com
 

          ในประเทศไทยปลาคาร์พสวยงามนับว่าเป็นสัตว์น้ำที่นักเลี้ยงปลาให้ความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ด้วยสีสันและรวดลายที่สวยงาม รวมถึงมีขนาดตัวที่ใหญ่ เป็นที่ดึงดูดสายตาอย่างมาก ปลาสายพันธุ์หลักที่นักเลี้ยงส่วนใหญ่ต้องมีติดบ่อกันแทบทุกบ้าน คือปลาคาร์พกลุ่มโกซันเก้ (Go-Sanke) ประกอบไปด้วย 3 สายพันธุ์หลัก โคฮากุ (Kohaku) โชว่า (Showa) และซันเก้ (Sanke) พบว่าปลากลุ่มโกซันเก้และอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ฮิ อุทสึริ (Hi Utsuri)  โกชิกิ(Goshiki) และโกโรโมะ (Koromo) เป็นต้น จะมีลวดลายสีแดงเป็นองค์ประกอบบนลำตัวและหัว (รูปที่ 1) อาจเป็นปัจจัยโน้มนำที่ทำให้เกิดโรคฮิคุยที่ส่งผลต่อความสวยงามและคุณภาพชีวิตของตัวปลาในอนาคตได้

 

รูปที่ 1 สายพันธุ์ปลาคาร์พที่มีลวดลายสีแดง

          โรคฮิคุย (Hikui disease หรือ Cutaneous perivascular wall tumor) คือเนื้องอกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบนผนังหลอดเลือดบริเวณชั้นผิวหนังในตำแหน่งลวดลายที่มีสีแดงด้านบนของลำตัวและหัวของปลาคาร์พ พบว่ารอยโรคของเนื้องอกจะเริ่มจากการมีสีเหลือง-ส้มเป็นจุดๆ เกิดขึ้นบนลวดลายสีแดง (รูปที่ 2) จากนั้นจุดจะค่อยๆ ขยายขนาดเป็นพื้นที่กว้างไปเรื่อยๆ เกิดการบวมนูน และอาจพบรอยแผลหลุม ถุงน้ำ หรือเลือดออกบริเวณก้อนเนื้องอก (รูปที่ 3) ปัจจัยโน้มนำในการเกิดโรคฮิคุยอาจเกิดได้จากสายพันธุ์ปลาคาร์พที่มีสีแดง อายุของปลาที่มากขึ้น การเลี้ยงในบ่อที่ได้รับแสงแดดมากเกินไป เป็นต้น 

รูปที่ 2 รอยโรคระยะเริ่มต้นมีสีเหลือง-ส้มเป็นจุดๆ เกิดขึ้นบนลวดลายสีแดง

               การตรวจวินิจฉัยสัตวแพทย์จำเป็นต้องแยกโรคฮิคุยออกจากโรคทางผิวหนังอื่นๆ ที่ทำให้เกิดรอยโรคที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประกอบกับการตรวจร่างกายของปลา ตรวจปรสิตภายนอก คุณภาพน้ำ สถานที่เลี้ยง และสิ่งแวดล้อมรอบๆ เพื่อวางแผนการรักษา โดยการรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเนื้องอกออกหรือการทำแผล การให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดและยาลดอักเสบ ยาหรือสารเคมีควบคุมการติดเชื้อปรสิตต่างๆ การรักษาคุณภาพน้ำและการทำร่มเงาเพื่อบังแสงแดดในตอนกลางวัน รวมถึงการให้คำแนะนำต่างๆ อย่างเหมาะสม 

รูปที่ 3 รอยโรคมีลักษณะบวมนูน มีแผลหลุด และถุงน้ำ      

          โรคฮิคุยมีการรายงานในปลาคาร์พสายพันธุ์โกซันเก้ โกชิกิ และโกโรโมะ ที่มีลวดลายสีแดงเป็นองค์ประกอบและปลาที่ไม่มีสีแดงที่เลี้ยงรวมกับปลาป่วยในบ่อ พบได้ในปลาอายุ 5-20 ปี และปลาที่เลี้ยงในบ่อที่ได้รับแสงแดด 50-100% ของช่วงกลางวัน หลังจากการรักษาด้วยความเย็นและการทำแผลพบการเกิดขึ้นซ้ำ

 

รูปที่ 4 รอยโรคของโรคฮิคุยในปลาคาร์พสายพันธุ์ชีโร่อุทสึริ

ตรวจรักษาและให้คำปรึกษาสัตว์น้ำ 
ติดต่อคลินิกสัตว์น้ำ 
โทร/ไลน์: 0981034066  
Facebook: Aquacmu

 

บรรณานุกรม

  • Noga, E. J. (2010). Fish disease: diagnosis and treatment (2nd ed.). Wiley-Blackwell.
  • Sirri, R., Pretto, T., Montesi, F., Berton, V., Mandrioli, L., & Barbé, T. (2016). Hikui disease in nine koi carp (Cyprinus carpio): First description of a cutaneous perivascular wall tumour. Veterinary Dermatology, 27(4), 301-e74. https://doi.org/10.1111/vde.12338
  • Smith, S. A. (Ed.). (2019). Fish diseases and medicine. CRC Press.
ที่อยู่155 หมู่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100
2023 Copyright By VMCMU
053-948002 , Fax.053-948065