โรคไรขี้เรื้อนในโคและกระบือ

ย้อนกลับ 27 กันยายน 2566
1

โรคไรขี้เรื้อนในโคและกระบือ

สพ.ญ.นงนภัส แสงแก้ว
โรงพยาบาลสัตว์แม่ออน 
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
nongnapas.s@cmu.ac.th

          หนึ่งในปัญหาผิวหนังที่พบเจอได้บ่อยในโคและกระบือคือ การติดเชื้อปรสิตภายนอกกลุ่มไรขี้เรื้อน(Mite Infestation) ซึ่งชนิดของไรขี้เรื้อนที่พบได้ในสัตว์กลุ่มโคและกระบือคือ sarcoptic mange (S. scabiei var. bovis), psoroptic mange (P. ovis), chorioptic mange (C. bovis หรือ C. texanus) และ demodectic mange (D. bovis, D. ghanensis หรือ D. tauri) โดยสามารถติดต่อและแพร่กระจายผ่านทางการสัมผัสโดยตรง (direct contact) และในไรขี้เรื้อนบางชนิด (sarcoptic mange, psoroptic mange และ chorioptic mange) พบว่าสามารถมีชีวิตอยู่ได้ภายนอกตัวสัตว์ได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้สามารถติดต่อและแพร่กระจายผ่านทางอุปกรณ์ภายในฟาร์ม รวมถึงพื้นโรงเรือนที่มีการปนเปื้อน

          ลักษณะรอยโรคของการติดเชื้อปรสิตลุ่มไรขี้เรื้อนคือ อาการคัน (pruritis), ขนร่วง (alopecia), ผิวหนังเป็นสะเก็ด (scale), ผิวหนังหนาตัว (hyperkeratosis), ผิวหนังอักเสบ (dermatitis) และในกรณีที่มีอาการรุนแรงมักพบการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วย โดยเฉพาะ Staphylococcus aureus (Rakesh et al., 2017)

          การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจร่างกายเบื้องต้นร่วมกับขูดตรวจผิวหนังทั้งแบบตื้นและแบบลึก (superficial and deep skin scraping) และทำการส่องตรวจผ่านทางกล้องจุลทรรศน์เพื่อจำแนกชนิดของไรขี้เรื้อนเพื่อวางแผนการรักษาและควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง

           การรักษาสามารถใช้ยากำจัดปรสิตกลุ่ม macrocyclic lactones เช่น ยาฉีด ivermectin 0.2 mg/kg หรือยาราดหลัง moxidectin 0.5 mg/kg ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์แบบกว้าง (broad-spectrum antibiotic) ในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือ ยาแก้แพ้ (antihistamines) เพื่อลดอาการคัน ในสัตว์ป่วยที่แสดงอาการคันรุนแรง หรือยาอื่นๆตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ นอกจากนั้นควรทำการกำจัดปรสิตไรขี้เรื้อนที่อยู่บริเวณสิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์ เช่น อุปกรณ์ภายในฟาร์มและพื้นโรงเรือนด้วยยากำจัดปรสิตแบบพ่น เช่น permethrin, cypermethrin หรือ deltamethrin(Rakesh et al., 2017) เพื่อลดปริมาณปรสิตไรขี้เรื้อนภายในสิ่งแวดล้อม และลดการแพร่กระจายไปยังสัตว์ตัวอื่นภายในฟาร์ม 
 

รูปที่ 1 การหนาตัวของผิวหนัง (hyperkeratosis) ร่วมกับอาการขนร่วง (alopecia) บริเวณหลังของกระบือที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อไรขี้เรื้อนกลุ่ม chorioptic mange
ภาพถ่ายโดย นงนภัส แสงแก้ว

รูปที่ 2 การหนาตัวของผิวหนัง (hyperkeratosis) บริเวณโคนหางของโคที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อไรขี้เรื้อนกลุ่ม chorioptic mange
หมายเหตุ. จาก https://www.nadis.org.uk/disease-a-z/cattle/ectoparasites-of-cattle/

รูปที่ 3 การอักเสบของผิวหนัง (dermatitis) บริเวณหลังของโคที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อไรขี้เรื้อนกลุ่ม psoroptic mange
หมายเหตุ. จาก https://www.nadis.org.uk/disease-a-z/cattle/ectoparasites-of-cattle/

รูปที่ 4 ไรขี้เรื้อนกลุ่ม chorioptic mange ที่แสดงผ่านทางกล้องจุลทรรศน์
ภาพถ่ายโดย นงนภัส แสงแก้ว

รูปที่ 5  ไข่ของไรขี้เรื้อนกลุ่ม chorioptic mange ที่แสดงผ่านทางกล้องจุลทรรศน์
ภาพถ่ายโดย นงนภัส แสงแก้ว

บรรณานุกรม

  • Ketzis, J. K. (2023). Mange in cattle. https://www.msdvetmanual.com/integumentary-
    system/mange/mange-in-cattle
  • NADIS. (2019). Ectoparasites of Cattle. https://www.nadis.org.uk/ 
    Rakesh, R., Mahendran, K., Karthik, K., Bhanuprakash, A., & Gupta, V. (2017). Concurrent sarcoptic and psoroptic mange complicated with Staphylococcus aureus in a Murrah buffalo (Bubalus bubalis). Buffalo Bulletin, 36(1), 199-206. 
ที่อยู่155 หมู่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100
2023 Copyright By VMCMU
053-948002 , Fax.053-948065