การควบคุมป้องกันโรคลัมปีสกิน (Lumpy skin) ในโค

ย้อนกลับ 25 ตุลาคม 2566
1

การควบคุมป้องกันโรคลัมปีสกิน (Lumpy skin) ในโค

ผศ.ดร.น.สพ.ปรมินทร์ วินิจฉัยกุล
ภาควิชาคลินิกสัตว์บริโภค คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
pvinitchaikul@gmail.com

 

โรคลัมปีสกิน (Lumpy skin) คืออะไร ? 

          โรคลัมปีสกินมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสลัมปีสกินซึ่งอยู่ในวงศ์ Poxviridae และสกุล Capripoxvirus โดยเชื้อไวรัสลัมปีสกินมักก่อโรคในสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่โคและกระบือ เป็นหลัก สัตว์ที่ป่วยจะมีตุ่มขนาดแตกต่างกัน โดยมักจะพบที่ผิวหนังบริเวณส่วนของลำตัว แผงคอ และหัว ร่วมกับอาการไข้สูง และมีต่อมน้ำเหลืองบวมโต เมื่อระยะเวลาผ่านไปตุ่มดังกล่าวจะแตกเกิดเป็นแผลหลุมที่มีลักษะจำเพาะ เรียกว่า “Sit-fast” นอกจากนี้แล้วยังสามารถพบตุ่มบริเวณอวัยวะภายในได้ด้วย เช่น ปอด หลอดลม กระเพาะอาหาร และมดลูก เป็นต้น ลักษณะอาการเหล่านี้มักส่งผลเสียโดยตรงกับสุขภาพสัตว์ ทำให้สัตว์ไม่แข็งแรง การเจริญเติบโตลดลง ไวต่อการติดเชื้อ และมีภาวะพร่องภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังทำให้โคนมมีปริมาณน้ำนมที่ลดลง และยังเป็นสาเหตุให้เกิดการแท้งลูกได้ (Arjkumpa et al., 2021) โรคลัมปีสกินจึงส่งผลกระทบต่อเจ้าของสัตว์ในแง่ของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากผลผลิตลดลง ค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่าแรงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเสียโอกาสในการผลิต ซึ่งจากการรายงานภายในประเทศไทย พบว่าฟาร์มโคนมที่ติดเชื้อไวรัสลัมปีสกินส่งผลทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 9.96 ตันต่อเดือน ลดเหลือเพียง 8.23 ตันต่อเดือน ในช่วงที่มีการระบาดของโรค (Vinitchaikul et al., 2023) โดยตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติมตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จึงได้กำหนดให้โรคลัมปีสกิน เป็นโรคระบาดในสัตว์เคี้ยวเอื้องเพิ่มเติมอีกด้วย 

รูปที่ 1 โคที่แสดงลักษณะของโรคลัมปีสกิน

ระบาดวิทยา และการติดต่อของเชื้อ 

          โรคลัมปีสกินพบครั้งแรกที่ประเทศแซมเบีย ทวีปแอฟริกาเมื่อปี พ.ศ. 2472 หลังจากนั้นได้เกิดแพร่กระจายของโรคไปยังทวีปยุโรปและทวีปเอเชียตามลำดับ โดยเมื่อในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาได้มีรายงานการระบาดในประเทศบังคลาเทศ จีน และอินเดีย ภายหลังจากนั้นเริ่มมีการลุกลามไปยังประเทศเนปาล ศรีลังกา พม่า เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา ตามลำดับ (Lu et al., 2021; Tran et al., 2021; Tuppurainen et al., 2021) ซึ่งในประเทศไทย ได้มีรายงานการระบาดครั้งแรกที่จังหวัดร้อยเอ็ด ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในเดือนมีนาคม ปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยภายในระยะเวลาอันสั้นโรคลัมปีสกินได้แพร่กระจายการระบาดของโรคและสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงโคและกระบือไปทั่วประเทศ ซึ่งพบว่ามีอัตราการป่วยร้อยละ 40.5 และมีอัตราการตายร้อยละ 1.2 (Arjkumpa et al., 2021) จากข้อมูลการศึกษาทางพันธุกรรมระดับโมเลกุลพบว่า เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการระบาดในพื้นที่เขตภาคเหนือของประเทศไทยมีความใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคที่มาจากประเทศจีน ฮ่องกง และเวียดนาม (Singhla et al., 2021)           

          การติดต่อของโรค แบ่งออกเป็น 2 ทางหลักด้วยกัน คือแบบอาศัยพาหะและไม่อาศัยพาหะ โดยการติดต่อแบบอาศัยพาหะจะมีแมลงดูดเลือด เช่น ยุง เห็บ และแมลงวันคอก เป็นพาหะหลักในการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งวิธีนี้ถือว่าเป็นช่องทางการติดต่อหลัก (Tuppurainen et al., 2011; Tuppurainen et al., 2013; Tuppurainen et al., 2021) ส่วนการติดต่อแบบไม่อาศัยพาหะมักพบได้จากการเลี้ยงอย่างหนาแน่น ที่มีสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำเชื้อ และสะเก็ดแผลจากสัตว์ที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดต่อผ่านทางรกหรือมีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันภายในฟาร์มได้

การควบคุมป้องกันโรค

          ในช่วงที่มีการระบาดของโรค กรมปศุสัตว์ได้ประกาศงดการเคลื่อนย้ายสัตว์ ประกอบกับออกมาตรการการปิดตลาดค้าขายโค-กระบือเป็นการชั่วคราวเพื่อเป็นการลดการแพร่กระจายของโรคภายในประเทศ  แม้ว่าโรคลัมปีสกินไม่เป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ได้ แต่ยังคงไม่แนะนำให้นำเนื้อโคที่ป่วยเป็นโรคลัมปีสกินมาบริโภค ซึ่งตามข้อมูลด้านการติดต่อของเชื้อที่พบว่ามีการติดต่อของเชื้อผ่านทางแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะเป็นทางหลัก ดังนั้น การควบคุมป้องกันแมลงพาหะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เกษตรกรต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีแมลงดูดเลือดเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งวิธีการในการควบคุมแมลงพาหะนั้นมีหลายวิธี เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีในการกำจัดควบคุมแมลงพาหะ ซึ่งควรมีการศึกษาฉลากของผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากบางผลิตภัณฑ์ต้องทำการละลายน้ำเพื่อให้ได้ความเข้มข้นที่เหมาะสม รวมถึงศึกษาวิธีการใช้ที่มีทั้งแบบฉีดพ่นบนตัวสัตว์หรือบริเวณคอก และราดหลัง เป็นต้น นอกจากนี้การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบของฟาร์มให้โปร่งโล่ง ก็เป็นการช่วยลดแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ เพื่อป้องกันแมลงพาหะอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การกางมุ้งโดยรอบบริเวณคอกสัตว์ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ในการดักจับแมลงหรือไล่แมลงพาหะ เช่น หลอดไฟไล่แมลง พัดลมดักยุง และเครื่องช็อตแมลง เป็นต้น สามารถที่จะช่วยควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในฝูงสัตว์ได้

         อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับฟาร์ม โดยถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ได้แก่ การทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์เครื่องมือการเลี้ยงเป็นประจำ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือบ่อจุ่มเท้าก่อนเข้าฟาร์ม และการกักสัตว์ใหม่ก่อนนำเข้าเลี้ยงรวมกันในฟาร์ม เป็นต้น แต่ทว่ามาตรการควบคุมป้องกันโรคลัมปีสกินที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันคือการทำวัคซีน ซึ่งหากสัตว์ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ดียิ่งขึ้น ในปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศไหนที่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสลัมปีสกินได้โดยไม่ทำวัคซีนแก่สัตว์

          ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์แนะนำการทำวัคซีนเพื่อควบคุมป้องกันโรคในโคที่แข็งแรงทุกตัวในฟาร์ม อย่างน้อยปีละครั้ง โดยมีลักษณะการใช้วัคซีน ดังนี้

การเก็บรักษาวัคซีน    เก็บในที่เย็นอุณหภูมิประมาณ 2-8 องศาเซลเซียส หรือในตู้เย็นช่องธรรมดา ห้ามแช่แข็งโดยเด็ดขาด

การฉีดวัคซีน    ทำการผสมตัวทำละลายวัคซีนให้เข้ากับตัวเนื้อวัคซีน (freeze-dried vaccine) ผสมให้เข้ากันก่อนนำไปฉีดทุกครั้ง และควรใช้ให้หมดขวดทุกครั้ง ไม่สามารถเก็บรักษาได้ภายหลังผสมแล้ว

ขนาดบรรจุ และการฉีด   ให้ทำการศึกษา และปฏิบัติตามเอกสารกำกับวัคซีนอย่างเคร่งครัด

สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับการทำวัคซีนลัมปีสกิน

  • วัคซีน ไม่ใช่ยา ไม่สามารถใช้เพื่อรักษาโรค และไม่สามารถลดการติดเชื้อลงได้ แต่ใช้เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือแสดงอาการของโรคให้น้อยลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ผลดีขึ้น
  • ควรทำวัคซีนเฉพาะในสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์เท่านั้น ไม่เช่นนั้นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ
  • ภูมิคุ้มกันจะเริ่มสร้างภายหลังได้รับวัคซีนประมาณ 10 วัน และสูงจนถึงระดับคุ้มโรคได้ที่ภายหลังได้รับวัคซีนประมาณ 21 วัน 
  • แม่โคตั้งท้องสามารถฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากวัคซีนไม่มีผลต่อตัวอ่อนในท้อง แต่อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังเรื่องการจับบังคับโคขณะฉีดให้มีการดิ้นรนน้อยที่สุด 
  • อาจพบผลข้างเคียงของวัคซีนในโคบางตัว เช่น มีไข้ มีตุ่มคล้ายลัมปีสกินเกิดขึ้นบริเวณที่ฉีด มีการบวมบริเวณที่ฉีด มีต่อมน้ำเหลืองบวม และมีปริมาณน้ำนมลดลง ซึ่งเบื้องต้นสามารถหายได้เอง อย่างไรก็ตาม ถ้ารุนแรงขึ้นให้ตามเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือสัตวแพทย์ในพื้นที่
  • ภายหลังฉีดวัคซีน 1 เดือน ควรงดการนำเนื้อสัตว์ไปบริโภค รวมถึงงดการเคลื่อนย้ายสัตว์   

          จากข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยา และภูมิคุ้มกันวิทยาของโรคลัมปีสกินของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เกิดการระบาดจนถึงปัจจุบัน จึงขอเสนอแนวทางการปฏิบัติสำหรับการทำวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินดังต่อไปนี้ 

สถานการณ์ต่อไปนี้ สามารถทำวัคซีนได้

  • โคทุกตัวภายในฟาร์ม ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยป่วยด้วยโรคลัมปีสกินและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
  • ลูกโคสุขภาพแข็งแรง ที่เกิดจากแม่โคที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยป่วยด้วยโรคลัมปีสกินมาก่อน สามารถทำวัคซีนได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด
  • ลูกโคสุขภาพแข็งแรง ที่เกิดจากแม่โคที่เคยได้รับวัคซีนหรือป่วยด้วยโรคลัมปีสกินมาก่อน สามารถทำวัคซีนตั้งแต่อายุ 2-3 เดือนขึ้นไป 
  • โคที่เคยป่วยด้วยโรคลัมปีสกินผ่านมาแล้ว 1 ปี 
  • แม่โคตั้งท้องอยู่ (ควบคุมการจับบังคับให้ดี)

สถานการณ์ต่อไปนี้ ไม่สามารถทำวัคซีนได้

  • โคอยู่ระหว่างการป่วยด้วยโรคลัมปีสกิน
  • โคที่ป่วยด้วยโรคอื่นๆ และมีสุขภาพไม่ดี
  • โคอยู่ในพื้นที่ที่กำลังมีการระบาดโรคลัมปีสกิน
  • ลูกโคที่เกิดจากแม่โคที่เคยได้รับวัคซีนหรือป่วยด้วยโรคลัมปีสกินมาก่อน ที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน

กิตติกรรมประกาศ

สำนักงานการวิจัยแห่งขาติ หมายเลขทุนวิจัย FF66/021

บรรณานุกรม

  • Abutarbush, S. M., Hananeh, W. M., Ramadan, W., Al Sheyab, O. M., Alnajjar, A. R., Al Zoubi, I. G., Knowles, N. J., Bachanek-Bankowska, K., & Tuppurainen, E. S. (2016). Adverse reactions to field vaccination against lumpy skin disease in Jordan. Transboundary and Emerging Diseases, 63(2), e213-219. https://doi.org/10.1111/tbed.12257
  •  Arjkumpa, O., Suwannaboon, M., Boonrawd, M., Punyawan, I., Laobannu, P., Yantaphan, S., Bungwai, A., Ponyium, V., Suwankitwat, N., Boonpornprasert, P., Nuansrichay, B., Kaewkalong, S., Ounpomma, D., Charoenlarp, W., Pamaranon, N., Prakotcheo, R., Buameetoop, N., Punyapornwithaya, V., & Songkasupa, T. (2021). First emergence of lumpy skin disease in cattle in Thailand, 2021. Transboundary and Emerging Diseases, 68(6), 3002-3004. https://doi.org/10.1111/tbed.14246 
  • Brenner, J., Bellaiche, M., Gross, E., Elad, D., Oved, Z., Haimovitz, M., Wasserman, A., Friedgut, O., Stram, Y., Bumbarov, V., & Yadin, H. (2009). Appearance of skin lesions in cattle populations vaccinated against lumpy skin disease: statutory challenge. Vaccine, 27(10), 1500-1503. https://doi.org/10.1016/j.vaccine.2009.01.020 
  • Haegeman, A., De Leeuw, I., Mostin, L., Campe, W. V., Aerts, L., Venter, E., Tuppurainen, E., Saegerman, C., & De Clercq, K. (2021). Comparative evaluation of lumpy skin disease virus-based live attenuated vaccines. Vaccines (Basel), 9(5). https://doi.org/10.3390/ vaccines9050473 
  • Klement, E., Broglia, A., Antoniou, S. E., Tsiamadis, V., Plevraki, E., Petrović, T., Polaček, V., Debeljak, Z., Miteva, A., Alexandrov, T., Marojevic, D., Pite, L., Kondratenko, V., Atanasov, Z., Gubbins, S., Stegeman, A., & Abrahantes, J. C. (2020). Neethling vaccine proved highly effective in controlling lumpy skin disease epidemics in the Balkans. Preventive Veterinary Medicine, 181, 104595. https://doi.org/10.1016/j.prevetmed.2018.12.001 
  • Lu, G., Xie, J., Luo, J., Shao, R., Jia, K., & Li, S. (2021). Lumpy skin disease outbreaks in China, since 3 August 2019. Transboundary and Emerging Diseases, 68(2), 216-219. https://doi.org/10.1111/tbed.13898 
  • Morgenstern, M., & Klement, E. (2020). The effect of vaccination with live attenuated neethling lumpy skin disease vaccine on milk production and mortality-an analysis of 77 dairy farms in Israel. Vaccines (Basel), 8(2). https://doi.org/10.3390/vaccines8020324 
  • Singhla, T., Boonsri, K., Kreausukon, K., Modethed, W., Pringproa, K., Sthitmatee, N., Punyapornwithaya, V., & Vinitchaikul, P. (2022). Molecular characterization and phylogenetic analysis of lumpy skin disease virus collected from outbreaks in Northern Thailand in 2021. Vet Sci, 9(4). https://doi.org/10.3390/vetsci9040194 
  • Tran, H. T. T., Truong, A. D., Dang, A. K., Ly, D. V., Nguyen, C. T., Chu, N. T., Hoang, T. V., Nguyen, H. T., Nguyen, V. T., & Dang, H. V. (2021). Lumpy skin disease outbreaks in vietnam, 2020. Transboundary and Emerging Diseases, 68(3), 977-980. https://doi.org/10.1111/tbed.140 22
  • Tuppurainen, E., Dietze, K., Wolff, J., Bergmann, H., Beltran-Alcrudo, D., Fahrion, A., Lamien, C. E., Busch, F., Sauter-Louis, C., Conraths, F. J., De Clercq, K., Hoffmann, B., & Knauf, S. (2021). Review: Vaccines and vaccination against lumpy skin disease. Vaccines (Basel), 9(10). https://doi.org/10.3390/vaccines9101136 
  • Tuppurainen, E. S., Stoltsz, W. H., Troskie, M., Wallace, D. B., Oura, C. A., Mellor, P. S., Coetzer, J. A., & Venter, E. H. (2011). A potential role for ixodid (hard) tick vectors in the transmission of lumpy skin disease virus in cattle. Transboundary and Emerging Diseases, 58(2), 93-104. https://doi.org/10.1111/j.1865-1682.2010.01184.x 
  • Vinitchaikul, P., Punyapornwithaya, V., Seesupa, S., Phuykhamsingha, S., Arjkumpa, O., Sansamur, C., & Jarassaeng, C. (2023). The first study on the impact of lumpy skin disease outbreaks on monthly milk production on dairy farms in Khon Kaen, Thailand. Vet World, 16(4), 687-692. https://doi.org/10.14202/vetworld.2023.687-692 
  • ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 (2558, 29 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนพิเศษ 347 ง. หน้า 10-15. https://www.moac.go.th/law_agri-files-422791791848​​​​​​​
ที่อยู่155 หมู่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100
2023 Copyright By VMCMU
053-948002 , Fax.053-948065