โครงการต้นแบบงานบริการวินิจฉัยโรคในนกแก้วสวยงามเชิงรุก

ย้อนกลับ 30 เมษายน 2566
1

โครงการต้นแบบงานบริการวินิจฉัยโรคในนกแก้วสวยงามเชิงรุก

 

น.สพ.กิตติกร บุญศรี
สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ 
ศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ kittikorn.boonsri@cmu.ac.th
  

        ปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงนก สวยงามกันมากขึ้น จึงมีการนำนกจากต่างพื้นที่ภายในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้บางครั้งพบปัญหาเรื่องโรคไวรัสที่ติดมากับตัวนกที่นำเข้ามา โดยพบเป็นประเด็นขัดแย้งในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการซื้อขายนก จากข้อมูลดังกล่าวและการสอบถามจากนายสัตวแพทย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงนกสวยงาม และผู้เลี้ยงนกสวยงามที่มาส่งตัวอย่างยังศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ ทำให้พบปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจสาเหตุ ลักษณะของโรคและการตรวจวินิจฉัยโรค รวมถึงข้อจำกัดในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เนื่องจากเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับนกสวยงามผู้เลี้ยงนกสวยงามมักจะทำการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของตนเองบ้าง จากข้อมูลที่ได้รับจากสื่อต่างๆบ้าง   และข้อมูลที่ได้รับจากการเผยแพร่จากสื่อออนไลน์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการมาอ้างอิง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับคำแนะนำหรือได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้องจากสัตวแพทย์ ส่งผลเสียต่อผลิตผลที่ได้ สุขภาพสัตว์ ในวงกว้างออกไป 

          ดังนั้นคณะผู้จัดทำโครงการจึงเล็งเห็นความสำคัญในการออกบริการตรวจวินิจฉัยโรคในนกแก้วสวยงามและให้คำปรึกษากับผู้เลี้ยงนกแก้วสวยงาม ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการตรวจโรคในนกแก้วที่เลี้ยงอยู่แล้ว หรือที่จะนำเข้ามาเลี้ยงใหม่เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และเพื่อพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น  

       ในโครงการดังกล่าวได้ ดำเนินการ “การตรวจโรคจงอยปากและขน และโรคไข้หวัดนกแก้ว”สำหรับผู้เลี้ยง รวมถึงการให้ “การอบรมเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรค” พบว่า   

        ผลการตรวจนกแก้วสวยงาม ได้แก่ นกแก้วมาคอว์ นกซันคอนัวร์ นกค็อกคาเทล นกกระตั้ว นกเลิฟเบิร์ด และนกฟอพัส ที่เข้าร่วมโครงการรวมจำนวนทั้งหมด 61 ตัว ไม่พบนกแก้วสวยงามที่ให้ผลบวกต่อโรคจงอยปากและขน สำหรับโรคไข้หวัดนกแก้วพบจำนวน 10 ตัว โดยคิดเป็นร้อยละ 16.39  จากข้อมูลทำให้โครงการเห็นว่านกแก้วสวยงามที่เลี้ยงกันอยู่มีโรคติดเชื้อดังกล่าวแอบแฝงอยู่ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงด้านจัดการ หรือสภาพแวดล้อมอาจทำให้นกแสดงอาการป่วย มีการแพร่กระจายของโรค และเกิดความสูญเสียจากโรคดังกล่าวได้  

       จากผลการสำรวจโรคดังกล่าวทางคณะผู้จัดทำโครงการได้จัดทำการอบรมเกี่ยวกับโรคดังกล่าว ในรูปแบบออนไลน์ ดังรูปที่ 1 เพื่อให้ผู้เลี้ยงนกแก้วสวยงามได้ทราบถึงความสำคัญ ลักษณะอาการ และการวินิจฉัยโรคที่ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นการตรวจคัดกรองก่อนการนำนกแก้วสวยงามมาเลี้ยงหรือเป็นการยืนยันการวินิจฉัยทางคลินิกเมื่อนกป่วย   

รูปที่ 1 การอบรมออนไลน์เรื่องโรคในนกแก้วสวยงามให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงนก

       นอกจากนี้ทางโครงการฯยังได้เข้าเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงนกแก้วสวยงามดังรูปที่ 2  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงและการจัดการนกแก้วสวยงาม และได้นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพ การกักโรคและการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันโรคเข้าไปภายในฟาร์ม 

รูปที่ 2 การเข้าฟาร์มนกแก้วสวยงามเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเลี้ยงดู และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคในนกแก้วสวยงาม

        จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเลี้ยงนกแก้วสวยงามในปัจจุบันที่มีการนำนกมาจากหลายพื้นที่ โดยอาจจะเป็นจากต่างจังหวัด ต่างภูมิภาค หรือแม้กระทั่งต่างประเทศ เพื่อนำมาทำการปรับปรุงพันธุ์ให้นกแก้วที่มีลักษณะสีสันถูกใจผู้เลี้ยง ซึ่งการนำเข้านกแก้วจากหลายพื้นที่ จะมีความเสี่ยงในการนำโรคเข้ามาสู่นกที่เลี้ยงอยู่ ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับโรค การกักโรค รวมถึงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงนกแก้วสวยงาม 

                              นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับนกสวยงามและผู้เลี้ยงจะถูกนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อกำหนดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมแนวทางการเลี้ยงนกสวยงามอย่างเหมาะสม และสามารถเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องให้ผู้เลี้ยงหน้าใหม่อันจะทำให้เกิดความยั้งยืนในการเลี้ยงต่อไป

        สำหรับผู้สนใจเพิ่มเติมสามารถสอบถาม ขอรับคำปรึกษาเพื่อส่งตัวอย่างตรวจคัดกรองโรคในนกแก้วสวยงามก่อนนำมาเลี้ยง หรือตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค ได้ที่ศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร 053-948041 หรือ line official account: @vrq8141n ศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่อยู่155 หมู่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100
2023 Copyright By VMCMU
053-948002 , Fax.053-948065