ผศ.ดร.น.สพ.ปรมินทร์ วินิจฉัยกุล
ภาควิชาคลินิกสัตว์บริโภค คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
pvinitchaikul@gmail.com
โรคลัมปีสกิน (Lumpy skin) คืออะไร ?
โรคลัมปีสกินมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสลัมปีสกินซึ่งอยู่ในวงศ์ Poxviridae และสกุล Capripoxvirus โดยเชื้อไวรัสลัมปีสกินมักก่อโรคในสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่โคและกระบือ เป็นหลัก สัตว์ที่ป่วยจะมีตุ่มขนาดแตกต่างกัน โดยมักจะพบที่ผิวหนังบริเวณส่วนของลำตัว แผงคอ และหัว ร่วมกับอาการไข้สูง และมีต่อมน้ำเหลืองบวมโต เมื่อระยะเวลาผ่านไปตุ่มดังกล่าวจะแตกเกิดเป็นแผลหลุมที่มีลักษะจำเพาะ เรียกว่า “Sit-fast” นอกจากนี้แล้วยังสามารถพบตุ่มบริเวณอวัยวะภายในได้ด้วย เช่น ปอด หลอดลม กระเพาะอาหาร และมดลูก เป็นต้น ลักษณะอาการเหล่านี้มักส่งผลเสียโดยตรงกับสุขภาพสัตว์ ทำให้สัตว์ไม่แข็งแรง การเจริญเติบโตลดลง ไวต่อการติดเชื้อ และมีภาวะพร่องภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังทำให้โคนมมีปริมาณน้ำนมที่ลดลง และยังเป็นสาเหตุให้เกิดการแท้งลูกได้ (Arjkumpa et al., 2021) โรคลัมปีสกินจึงส่งผลกระทบต่อเจ้าของสัตว์ในแง่ของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากผลผลิตลดลง ค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่าแรงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเสียโอกาสในการผลิต ซึ่งจากการรายงานภายในประเทศไทย พบว่าฟาร์มโคนมที่ติดเชื้อไวรัสลัมปีสกินส่งผลทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 9.96 ตันต่อเดือน ลดเหลือเพียง 8.23 ตันต่อเดือน ในช่วงที่มีการระบาดของโรค (Vinitchaikul et al., 2023) โดยตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติมตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จึงได้กำหนดให้โรคลัมปีสกิน เป็นโรคระบาดในสัตว์เคี้ยวเอื้องเพิ่มเติมอีกด้วย
รูปที่ 1 โคที่แสดงลักษณะของโรคลัมปีสกิน
ระบาดวิทยา และการติดต่อของเชื้อ
โรคลัมปีสกินพบครั้งแรกที่ประเทศแซมเบีย ทวีปแอฟริกาเมื่อปี พ.ศ. 2472 หลังจากนั้นได้เกิดแพร่กระจายของโรคไปยังทวีปยุโรปและทวีปเอเชียตามลำดับ โดยเมื่อในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาได้มีรายงานการระบาดในประเทศบังคลาเทศ จีน และอินเดีย ภายหลังจากนั้นเริ่มมีการลุกลามไปยังประเทศเนปาล ศรีลังกา พม่า เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา ตามลำดับ (Lu et al., 2021; Tran et al., 2021; Tuppurainen et al., 2021) ซึ่งในประเทศไทย ได้มีรายงานการระบาดครั้งแรกที่จังหวัดร้อยเอ็ด ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในเดือนมีนาคม ปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยภายในระยะเวลาอันสั้นโรคลัมปีสกินได้แพร่กระจายการระบาดของโรคและสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงโคและกระบือไปทั่วประเทศ ซึ่งพบว่ามีอัตราการป่วยร้อยละ 40.5 และมีอัตราการตายร้อยละ 1.2 (Arjkumpa et al., 2021) จากข้อมูลการศึกษาทางพันธุกรรมระดับโมเลกุลพบว่า เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการระบาดในพื้นที่เขตภาคเหนือของประเทศไทยมีความใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคที่มาจากประเทศจีน ฮ่องกง และเวียดนาม (Singhla et al., 2021)
การติดต่อของโรค แบ่งออกเป็น 2 ทางหลักด้วยกัน คือแบบอาศัยพาหะและไม่อาศัยพาหะ โดยการติดต่อแบบอาศัยพาหะจะมีแมลงดูดเลือด เช่น ยุง เห็บ และแมลงวันคอก เป็นพาหะหลักในการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งวิธีนี้ถือว่าเป็นช่องทางการติดต่อหลัก (Tuppurainen et al., 2011; Tuppurainen et al., 2013; Tuppurainen et al., 2021) ส่วนการติดต่อแบบไม่อาศัยพาหะมักพบได้จากการเลี้ยงอย่างหนาแน่น ที่มีสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำเชื้อ และสะเก็ดแผลจากสัตว์ที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดต่อผ่านทางรกหรือมีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันภายในฟาร์มได้
การควบคุมป้องกันโรค
ในช่วงที่มีการระบาดของโรค กรมปศุสัตว์ได้ประกาศงดการเคลื่อนย้ายสัตว์ ประกอบกับออกมาตรการการปิดตลาดค้าขายโค-กระบือเป็นการชั่วคราวเพื่อเป็นการลดการแพร่กระจายของโรคภายในประเทศ แม้ว่าโรคลัมปีสกินไม่เป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ได้ แต่ยังคงไม่แนะนำให้นำเนื้อโคที่ป่วยเป็นโรคลัมปีสกินมาบริโภค ซึ่งตามข้อมูลด้านการติดต่อของเชื้อที่พบว่ามีการติดต่อของเชื้อผ่านทางแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะเป็นทางหลัก ดังนั้น การควบคุมป้องกันแมลงพาหะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เกษตรกรต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีแมลงดูดเลือดเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งวิธีการในการควบคุมแมลงพาหะนั้นมีหลายวิธี เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีในการกำจัดควบคุมแมลงพาหะ ซึ่งควรมีการศึกษาฉลากของผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากบางผลิตภัณฑ์ต้องทำการละลายน้ำเพื่อให้ได้ความเข้มข้นที่เหมาะสม รวมถึงศึกษาวิธีการใช้ที่มีทั้งแบบฉีดพ่นบนตัวสัตว์หรือบริเวณคอก และราดหลัง เป็นต้น นอกจากนี้การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบของฟาร์มให้โปร่งโล่ง ก็เป็นการช่วยลดแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ เพื่อป้องกันแมลงพาหะอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การกางมุ้งโดยรอบบริเวณคอกสัตว์ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ในการดักจับแมลงหรือไล่แมลงพาหะ เช่น หลอดไฟไล่แมลง พัดลมดักยุง และเครื่องช็อตแมลง เป็นต้น สามารถที่จะช่วยควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในฝูงสัตว์ได้
อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับฟาร์ม โดยถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ได้แก่ การทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์เครื่องมือการเลี้ยงเป็นประจำ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือบ่อจุ่มเท้าก่อนเข้าฟาร์ม และการกักสัตว์ใหม่ก่อนนำเข้าเลี้ยงรวมกันในฟาร์ม เป็นต้น แต่ทว่ามาตรการควบคุมป้องกันโรคลัมปีสกินที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันคือการทำวัคซีน ซึ่งหากสัตว์ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ดียิ่งขึ้น ในปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศไหนที่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสลัมปีสกินได้โดยไม่ทำวัคซีนแก่สัตว์
ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์แนะนำการทำวัคซีนเพื่อควบคุมป้องกันโรคในโคที่แข็งแรงทุกตัวในฟาร์ม อย่างน้อยปีละครั้ง โดยมีลักษณะการใช้วัคซีน ดังนี้
การเก็บรักษาวัคซีน เก็บในที่เย็นอุณหภูมิประมาณ 2-8 องศาเซลเซียส หรือในตู้เย็นช่องธรรมดา ห้ามแช่แข็งโดยเด็ดขาด
การฉีดวัคซีน ทำการผสมตัวทำละลายวัคซีนให้เข้ากับตัวเนื้อวัคซีน (freeze-dried vaccine) ผสมให้เข้ากันก่อนนำไปฉีดทุกครั้ง และควรใช้ให้หมดขวดทุกครั้ง ไม่สามารถเก็บรักษาได้ภายหลังผสมแล้ว
ขนาดบรรจุ และการฉีด ให้ทำการศึกษา และปฏิบัติตามเอกสารกำกับวัคซีนอย่างเคร่งครัด
สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับการทำวัคซีนลัมปีสกิน
จากข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยา และภูมิคุ้มกันวิทยาของโรคลัมปีสกินของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เกิดการระบาดจนถึงปัจจุบัน จึงขอเสนอแนวทางการปฏิบัติสำหรับการทำวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินดังต่อไปนี้
สถานการณ์ต่อไปนี้ สามารถทำวัคซีนได้
สถานการณ์ต่อไปนี้ ไม่สามารถทำวัคซีนได้
กิตติกรรมประกาศ
สำนักงานการวิจัยแห่งขาติ หมายเลขทุนวิจัย FF66/021
บรรณานุกรม
25 ตุลาคม 2566
27 กันยายน 2566
30 มิถุนายน 2566
31 พฤษภาคม 2566
30 เมษายน 2566
31 มีนาคม 2566